อาการไส้ติ่ง (Appendicitis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องรุนแรงที่ต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน หากพบมีอาการเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา ควรนึกถึงโรคนี้ไว้ก่อนเสมอและรีบไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานไส้ติ่งที่อักเสบมักจะแตกทะลุ เป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้
อาการไส้ติ่ง (Appendicitis)
โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัยตั้งแต่เด็กอายุ 2 ขวบไปจนถึงผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งหญิงตั้งครรภ์ แต่จะพบได้มากในช่วงอายุ 10-30 ปี (พบได้น้อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากไส้ติ่งตีบแฟบมีเนื้อเยื่อหลงเหลือน้อย และในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากโคนไส้ติ่งยังค่อนข้างกว้าง) ในผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เท่า ๆ กัน (แต่ในช่วงอายุ 20-30 ปี จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง) และมีการคาดประมาณว่าในชั่วชีวิตของคนเราจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ประมาณ 7% หรือในปี ๆ หนึ่งจะมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 1 ใน 1,000 คน (ในแต่ละปีมีชาวอเมริกันเสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 300-400 คน)
หมายเหตุ : ไส้ติ่ง (Vermiform appendix) เป็นส่วนขยายของลำไส้ที่ยื่นออกมาจากกระพุ้งไส้ใหญ่ (Cecum) อยู่ตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา โดยมีลักษณะเป็นถุงแคบและยาว มีขนาดกว้างเพียง 5-8 มิลลิเมตร และมีความยาวหรือก้นถุงลึกโดยเฉลี่ย 8-10 เซนติเมตร (ในผู้ใหญ่) ภายในมีรูติดต่อกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ไส้ติ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ที่ฝ่อตัวลงและไม่ได้ทำหน้าที่ในการย่อยและดูดซึมอาหาร เนื่องจากเป็นท่อขนาดเล็กปลายตัน เมื่อเกิดการอักเสบจึงทำให้เนื้อผนังไส้ติ่งเน่าตายและเป็นรูทะลุในเวลาอันรวดเร็วได้
สาเหตุที่เกิดอาการไส้ติ่ง
สาเหตุสำคัญคือ เกิดจากภาวะอุดตันในรู (ทางเข้า-ออก) ของไส้ติ่ง ที่พบได้บ่อยที่สุดคือจากการมีเศษอุจจาระแข็ง ๆ ชิ้นเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “นิ่วอุจจาระ” (Fecalith) ตกลงไปในรูไส้ติ่ง และที่พบได้รองลงมาคือ เกิดจากเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง (Lymphoid tissue) ที่ผนังไส้ติ่งที่หนาตัวขึ้นตามการอักเสบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย นอกจากนี้อาจเกิดจากสิ่งแปลกปลอม (เช่น เมล็ดผลไม้), หนอนพยาธิ (ที่สำคัญคือ พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย พยาธิตืดหมู) หรือก้อนเนื้องอก
ซึ่งเมื่อเกิดการอุดตันขึ้น สิ่งคัดหลั่งที่ไส้ติ่งหลั่งอยู่เป็นปกติก็จะเกิดการคั่งอยู่ในรูไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งบวมเป่งและมีแรงดันภายในไส้ติ่งสูงขึ้น ประกอบกับการบีบขับของไส้ติ่ง จึงทำให้เกิดอาการปวดท้องรอบ ๆ สะดือ และในขณะเดียวกันเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่เป็นปกติวิสัย (ในจำนวนน้อย) ในรูไส้ติ่งก็จะเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและรุกล้ำเข้าไปในเนื้อเยื่อของไส้ติ่ง ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงตาม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา และในที่สุดไส้ติ่งก็จะเกิดการเน่าตายและแตกทะลุได้ ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบจากเชื้อไวรัสไซโตเมกะโล (Cytomegalovirus) ได้ ซึ่งมักจะพบได้ในผู้ป่วยเอดส์ และบางรายอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบโดยที่แพทย์ไม่ทราบสาเหตุเลยก็ได้ ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ป่วยแต่ละคน ไม่ได้เป็นโรคติดต่อที่แพร่ไปให้คนรอบข้างแต่อย่างใด
วิธีรักษา อาการไส้ติ่ง
หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านทันที โดยให้ยึดหลักว่า “หากมีอาการปวดท้องติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมง หรือขยับเขยื้อนตัวหรือเอามือกดแล้วรู้สึกเจ็บตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีไข้หรือไม่ก็ตาม ให้สงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบหรือภาวะร้ายแรงอื่น ๆ ที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และอย่าคิดว่าเป็นเพียงอาการปวดท้องธรรมดา เช่น การปวดประจำเดือนที่อาจเคยเป็นอยู่ประจำ
- ในรายที่มีอาการไส้ติ่งอักเสบชัดเจน (แม้แพทย์อาจจะไม่มั่นใจ 100% ก็ตาม) และไม่มีอาการไส้ติ่งแตกทะลุ แพทย์จะรีบให้การรักษาด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งออกทันที เพื่อป้องกันไส้ติ่งแตกทะลุและเกิดการติดเชื้อรุนแรงตามมา (ในกรณีนี้ยังไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด แต่แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัดได้ เมื่อผ่าตัดแล้วพบว่าไส้ติ่งอักเสบไม่แตกทะลุก็ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะต่อ) โดยการผ่าตัดไส้ติ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที การทำไม่ยุ่งยาก และแพทย์จะให้ผู้ป่วยอยู่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน (ในรายที่ไส้ติ่งแตกแล้วมักจะใช้เวลาที่นานกว่า และอาจเกิดแผลผ่าตัดติดเชื้อภายหลังได้) แล้วจึงอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ และจะนัดมาตัดไหมหลังการผ่าตัด 1 สัปดาห์ ซึ่งภายหลังการรักษาผู้ป่วยมักจะหายดีโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด
- ในรายที่แพทย์สงสัยว่าไส้ติ่งแตกทะลุ โดยเฉพาะในรายที่ลักษณะทางคลินิกไม่สามารถแยกได้ว่าไส้ติ่งแตกทะลุชัดเจน แพทย์จะนิยมให้ยาปฏิชีวนะไว้ก่อนตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด (เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการผ่าตัด) แต่ถ้าผ่าตัดไปแล้วพบว่าไส้ติ่งไม่ได้แตกทะลุก็ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีกหลังการผ่าตัด แต่ถ้าพบว่าไส้ติ่งแตกทะลุก็ให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยต่อไป
- ในรายที่มีอาการไส้ติ่งแตกและมีอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) เนื่องจากปล่อยให้เป็นอยู่นานกว่าจะมาพบแพทย์ การรักษาแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย (ก่อนนำผู้ป่วยไปผ่าตัด แพทย์จะใช้วิธีรักษาแบบประคับประคองให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการให้ยาสลบและการผ่าตัดก่อน เช่น ให้น้ำเกลือ ให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม ให้ยาลดไข้หรือเช็ดตัวให้อุณหภูมิร่างกายลดลง ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูง เป็นต้น) และภายหลังการผ่าตัดอาจต้องมีวิธีการดูแลรักษาแผลผ่าตัดเป็นพิเศษ แตกต่างจากไส้ติ่งอักเสบที่ยังไม่แตก และต้องให้ผู้ป่วยอยู่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่าปกติ
- ในรายที่ไส้ติ่งอักเสบมาแล้วหลายวันและกลายเป็นก้อนฝีรอบ ๆ ไส้ติ่ง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ครอบคลุมกว้างขวางไปก่อน (เพราะก้อนฝีอาจยังเละ ยุ่ย ไม่รวมตัวกันดี และการผ่าตัดเข้าไปรื้อค้นอาจทำให้ก้อนฝีฉีกขาดกระจัดกระจายได้) ถ้าผู้ป่วยตอบสนองดีต่อการรักษา เช่น อาการปวดท้องของผู้ป่วยดีขึ้น ก้อนฝีเล็กลง แพทย์จะให้การรักษาต่อโดยวิธีประคับประคอง และค่อยนัดผู้ป่วยมาผ่าตัดแบบไม่ฉุกเฉินในอีก 6-12 สัปดาห์ต่อมา แต่ถ้าการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเลย (ถ้าพยาธิสภาพรุนแรงมาก อาจทำเพียงระบายหนอง แต่ถ้าพยาธิสภาพไม่รุนแรงและสามารถตัดไส้ติ่งออกได้ แพทย์ก็จะทำการผ่าตัดให้)
- ในรายที่มีอาการไม่ชัดเจนว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ อาการปวดหรือตรวจร่างกายยังไม่ชัดเจน แต่มีสิ่งที่ทำให้สงสัยได้ว่าเป็นโรคนี้ แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยให้งดน้ำและอาหารและไม่ให้ยาปฏิชีวนะ ถ้าต่อมาผู้ป่วยมีอาการชัดเจนว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ แพทย์จะรีบทำการผ่าตัดไส้ติ่งทันที
อาการไส้ติ่ง เป็นอาการที่รายแรงอาจทำให้ถึงตายได้ เพราะอาการไส้ติ่ง เป็นสิ่งที่ทำให้ลำใส้ขยายตัวและอาจแตกได้ นั้นจึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนที่ไส้ติ่งนั้นเสียงชีวิตนั้นเองครับ